สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ฝ้าย ของดีท้องถิ่นไทย จุดขายคืองานฝีมือ

ฝ้าย คำนี้คำเดียวสื่อความหมายได้หลายอย่าง แต่หากจะหมายถึงพืชแล้ว ก็คงต้องหมายถึง ต้นฝ้าย ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเป็นปุยฝ้าย(คล้ายกับสำลี) ซึ่งมนุษย์เรารู้จักนำมาแปรรูปให้เป็นเส้นใยฝ้าย และนำไปใช้ถักทอเป็นเส้นด้ายหรือเป็นผืนผ้า เพื่อใช้ทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มานานเกินกว่า 2,000 ปีแล้ว และมีการแพร่กระจายออกไปยังดินแดนต่างๆทั่วโลก ตามเส้นทางการค้าขายของคนในสมัยโบราณใยฝ้ายเป็นเส้นใยสิ่งทอที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกเพราะมีราคาไม่แพง เนื้อเส้นใยนุ่ม น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วไม่ร้อน และดูดซับเหงื่อได้ดี และทำให้ต้นฝ้ายกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกไปด้วยเช่นกัน โดยประเทศที่เป็นแหล่งปลูกฝ้ายรายใหญ่ของโลกในปัจจุบันคือประเทศสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และออสเตรเลีย

ในประเทศไทยก็รู้จักการปลูกฝ้ายและแปรรูปมานานเป็นร้อยปีแล้วเช่นกัน แต่ในบ้านเราไม่สามารถปลูกฝ้ายได้พอกับความต้องการ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาโดยตลอด ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน เราเคยมีพื้นที่ปลูกฝ้ายมากถึงหนึ่งล้านไร่ เพราะรัฐบาลให้การส่งเสริม เพื่อเป็นวัตถุดิบแก่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ช่วยลดการนำเข้าเส้นใยฝ้ายจากต่างประเทศ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายของเรา กลับลดลงไปเรื่อยๆ เพราะเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่รายได้ดีกว่าแทน เช่น ยางพารา ข้าว ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น นอกจากนี้ฝ้ายยังเป็นพืชที่มีแมลงศัตรูรบกวนมากมายหลายชนิด ทั้งเพลี้ย ทั้งหนอน ทำให้การปลูกฝ้ายในพื้นที่ขนาดใหญ่หลายสิบไร่มีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้มาก จึงต้องใช้ยาฆ่าแมลงคอยควบคุมอยู่ตลอดทำให้การปลูกฝ้ายมีต้นทุนการปลูกสูง และไม่สามารถต่อสู้กับราคาเส้นใยฝ้ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้ ทำให้การปลูกฝ้ายในแปลงขนาดใหญ่เพื่อป้อนแก่อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงแทบหมดไปจากบ้านเรา ที่ยังหลงเหลือการปลูกฝ้ายอยู่บ้างจะเป็นการปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก 1-2 ไร่หรือไม่กี่งานเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมท้องถิ่นเท่านั้น

เมื่อสภาพการปลูกฝ้ายในประเทศไทยลดลงต่อเนื่องเช่นนี้ ต่อไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าอาจสูญหายหมดไป ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องหาทางที่จะฟื้นฟูหรืออนุรักษ์เอาไว้ จึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่จากเดิมที่มุ่งการเพิ่มปริมาณการปลูก ก็เปลี่ยนมามุ่งที่การปลูกฝ้ายปลอดสารพิษแทน พร้อมกับชูจุดเด่นในเรื่องของการทอด้วยมือหรือผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งเป็นศิลปะหรืองานฝีมือที่มีคุณค่า พร้อมกันนั้นก็หันมามุ่งเน้นที่การพัฒนาสายพันธุ์ฝ้ายในประเทศ ให้มีจุดขายใหม่ๆ หรือช่วยให้ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดีขึ้น

ในปัจจุบันการปลูกฝ้ายของบ้านเราจะเป็นการปลูกฝ้ายปลอดสารเคมี ในแปลงขนาดเล็กที่ควบคุมแมลงศัตรูได้ง่าย ผลผลิตที่ได้ก็นำไปแปรรูปเองเป็นสินค้าตามภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น โดยเน้นคุณค่าของความเป็นงานฝีมือที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นจุดขายที่สร้างมูลค่าให้กับผ้าฝ้าย ได้อย่างแท้จริง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook