สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะอึก สมุนไพรพื้นเมือง เลื่องสรรพคุณ

มะอึกจัดเป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่เติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น นิยมนำผลสุกและผลดิบมาประกอบอาหาร ชูรสเปรี้ยวให้แก่เมนูต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำพริก เครื่องจิ้มต่างๆ ใช้แทนมะนาวหรือมะขามได้เป็นอย่างดี เพราะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ในแถบอเมริกาใต้นิยมนำผลมะอึกมาทำเป็นเครื่องดื่มประเภทน้ำมะอึกคั้นให้ความสดชื่น

ต้นมะอึก มีลักษณะใกล้เคียงกับมะเขือพวง แต่มีใบที่ขนาดใหญ่กว่าและลำต้นจะมีหนามและขนทั่วทั้งต้น ใบ ผล ลำต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร เป็นทรงพุ่มขนาดกลาง แตกใบเรียงซ้อนสลับกัน ใบมีทรงเหมือนไข่ มีขนทั้งด้านล่างและด้านบนของใบ เมื่อผลิดอกจะมีดอกสีขาวบริเวณซอกใบ ผลมะอึกกลมมนมีขนปกคลุม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีผิวเหลืองเข้ม แต่เมื่อผลยังอ่อนจะมีสีเปลือกเป็นสีเขียว

ทั้งใบ ราก เมล็ดและลูกมะอึก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางสมุนไพรยา โดยใบมะอึกสามารถนำมาโขลกแล้วพอกบริเวณที่มีผื่นคัน เพื่อลดอาการคันได้ และยังใช้ประคบเพื่อลดพิษของฝีอักเสบภายนอกได้ ส่วนลูกมะอึก สามารถนำมาเคี้ยวทาน เพื่อขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ และรักษาความเจ็บป่วยที่เกิดจากถุงน้ำดี รากมะอึกช่วยลดอาการร้อนใน บรรเทาไข้ ลดปวด ช่วยลดอาการนอนไม่หลับ ขวัญผวา ละเมอเพ้อตื่น และยังขับพิษหัดได้ด้วย

หากเพื่อนๆ เกษตรกรอยากจะปลูกมะอึกไว้เป็นพืชผักสวนครัว ก็สามารถปลูกได้สบายๆ ครับ ไม่ต้องใส่ใจมาก แค่เพียงมีดินที่ร่วนซุย โปร่ง ขุดหลุมลึกราว 1 ฟุต นำปุ๋ยคอกรองไว้ที่ก้นหลุม หยอดเมล็ดพันธุ์ลงไป กลบดิน คลุมด้วยฟางแห้ง รดน้ำเช้าเย็นตามปกติ ภายใน 3 เดือนก็จะได้ผลมะอึกหอมๆ มาไว้ปรุงทำน้ำพริกในบ้านกันได้ครับ แต่อย่าลืมเอาผ้าขัดขนอ่อนบนเปลือกผิวของลูกมะอึกก่อนนำไปปรุงอาหารนะครับ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วซอยบางๆ ปรุงในน้ำพริก แกงส้ม หรือส้มตำก็อร่อยทั้งนั้นครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากจะนำมะอึกมาทำเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ ก็สามารถปลูกมะอึกเป็นสวน เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำพริกมะอึกชนิดแห้ง โดยนำมาปรุงกับปลาย่าง กระเทียม หอมแดงกะปิ น้ำตาล ให้ได้รสชาติถูกปากลูกค้า แล้วนำไปบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด ก็สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยครับ เพราะปัจจุบันหาทานกันได้ยากจริงๆ และการที่เราผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ก็ยังตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่แสนเร่งรีบได้ดีทีเดียวครับ แค่ตักราดบนข้าวสวยร้อนๆ ก็ทานได้แล้ว ได้ทั้งคุณค่าทางอาหาร รสชาติอร่อย และ เกษตรกรอย่างพวกเราก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook