สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การประเมินและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงการรับสัมผัสเชื้อดื้อยาจากการบริโภคเนื้อสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แบคทีเรียดื้อยาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก การใช้ยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์อาจทำให้เกิดแบคทีเรียดื้อยาและแพร่กระจายแบคทีเรียดังกล่าว โดยอาจเป็นแบคทีเรียก่อโรคหรือเก็บกักตัวระบุการดื้อยาที่ถ่ายทอดไปยังแบคทีเรียก่อโรคได้และอาจปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ท้ายที่สุดผู้บริโภคอาจได้รับแบคทีเรียเหล่านี้จากการบริโภคเนื้อสัตว์ และส่งผลให้เกิดการอุบัติของแบคทีเรียดื้อยาในกลุ่ม last line drugs สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อดื้อยา เช่น fluoroquinolones, extended spectrum β-lactams, colistin และ carbapenems จนเชื้อพัฒนาตัวเองกลายเป็น “superbugs” ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านจุลชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้ายีนดื้อยาอยู่บน plasmid อาจถ่ายทอดได้ส่งผลให้เชื้อดื้อยาแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และหากเกิดจากการกลายพันธุ์บนโครโมโซมจะส่งผลให้การดื้อยามีเสถียรภาพ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษาพยาบาล รวมทั้งอาจก่อให้เกิดผลเสียด้านเศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ  ตามมาในที่สุด

ที่ผ่านมาการประเมินความเสี่ยงเชื้อดื้อยาในประเทศไทยมักเป็นการประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพ หรือกึ่งปริมาณ-คุณภาพ โดยไม่ได้ทำจำเพาะชนิดยาต้านจุลชีพ อีกทั้งยังไม่มีการนำข้อมูลทางพันธุกรรมการดื้อยาในแบคทีเรียมาใช้ในการประเมิน เช่น ตัวระบุการดื้อยาและกลไกการดื้อยา รูปแบบปรากฏ (phenotype) และ รูปแบบพันธุกรรม (genotype) การดื้อยาในเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิดอื่นๆ อัตราการเกิดกลายพันธุ์และอัตราการเกิดการดื้อยาในเชื้อที่เกี่ยวข้อง การเกิดการดื้อยาข้ามต่อสารในกลุ่มเดียวกันและต่างกลุ่ม เป็นต้น และยังทำการประเมินความเสี่ยงเชื้อดื้อยาโดยใช้หลักการประเมินความเสี่ยงทางจุลชีววิทยาทั่วไป ทำให้ระดับความเสี่ยงที่ประเมินได้อาจไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงและส่งผลให้การจัดการความเสี่ยงไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การประเมินและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงการรับสัมผัสเชื้อดื้อยาจากการบริโภคเนื้อสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยมี รศ.สพ.ญ.ดร. รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อศึกษาและประเมินความเสี่ยงการรับสัมผัสเชื้อดื้อยาและการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาจากสถานที่จำหน่ายสู่ประชาชนที่สัมผัสกับเนื้อสัตว์ดังกล่าว เพื่อผลิตข้อมูลระดับความเสี่ยงของเชื้อดื้อยาต่อผู้บริโภคจากรับสัมผัสจากเนื้อสัตว์ที่จำหน่าย และพัฒนาแนวทาง (intervention) เพื่อการควบคุมป้องกันโรคที่ประเมินแล้วว่าจะช่วยลดความเสี่ยงเชื้อดื้อยา ณ สถานที่จำหน่ายได้

โครงการวิจัยนี้ได้ทำการวิจัย แบคทีเรียก่อโรคในทางเดินอาหาร ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ Salmonella และยาต้านจุลชีพใน กลุ่ม last line drugs คือ fluoroquinolone เป็นตัวแทนยาต้านจุลชีพที่มีกลไกหลัก คือ การกลายพันธุ์บนโครโมโซม (Vertical transfer) และการดื้อยากลุ่ม new generation cephalosporins ที่เกิดจากการผลิต เอนไซม์ extended spectrum β-lactamases (ESBLs)เป็นตัวแทนยาต้านจุลชีพที่ยีนอยู่บน plasmid (Horizontal transfer) เพื่อให้ระดับความเสี่ยงที่ประเมินได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดทำให้จัดการความเสี่ยงของการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดทำข้อมูลและแนวทางสำหรับการจัดการความเสี่ยงเชื้อดื้อยาอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการผลิตสินค้าเนื้อสุกรและเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ปลอดภัยจากเชื้อดื้อยาเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดเพื่อการส่งออกและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook