สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กุ้งก้ามแดง

กุ้งก้ามแดง ชื่อนี้คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นหูเท่ากุ้งก้ามกราม แต่หากจะเรียกว่า กุ้งเครย์ฟิช หรือล็อบสเตอร์น้ำจืดแล้ว หลายคนอาจจะคุ้นหู เพราะถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่นำมาปรุงอาหารเลิศรส ระดับภัตตาคารหรูที่นักชิมส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันดี กุ้งชนิดนี้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง และเป็นพันธุ์สัตว์น้ำนำเข้ามาจากต่างประเทศ การที่ใครจะเลี้ยงได้นั้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ การควบคุมตามกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลระทบต่อสัตว์น้ำภายในประเทศ และต้องมีการควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด

กุ้งก้ามแดง มีถิ่นกำเนิดมาจากปาปัวนิกินีและละแวกตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เป็นกุ้งที่มีเปลือกด้านนอกแข็งคล้ายกระดองปู ลำตัวปกคลุมไปด้วยแคลซียม มีสีของลำตัวเป็นสีแดงบ้างและยังมีสีสันต่างกันไปตามสายพันธุ์ ด้วยสีสันที่สวยงามของกุ้งจึงทำให้มีการนำเข้ามายังประเทศไทยเราเพื่อเป็นสัตว์น้ำสวยงาม แต่ด้วยความสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมของบ้านเรา ทำให้เพาะพันธุ์ได้ง่าย เลี้ยงดูไม่ยุ่งยาก จึงกลายมาเป็นกุ้งที่เราเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อ จนกลายเป็นกุ้งเนื้อที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีแนวโน้มตลาดที่ขยายตัวมากขึ้น

การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในประเทศไทยเรานั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทคือการเลี้ยงประเภทสัตว์สวยงาม และการเลี้ยงเป็นกุ้งเนื้อเชิงพาณิชย์ โดยการเลี้ยงประเภทสวยงามซึ่งมีราคาซื้อขายกันตั้งแต่ราคาหลักสิบไปถึงเรือนแสนนั้น จะเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในบ่อที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ่อปูน ท่อคอนกรีต หรือภาชนะใดที่บรรจุน้ำได้ ตามขนาดของพื้นที่และตามจำนวนที่ต้องการเลี้ยง จนกุ้งได้ขนาดที่พอเหมาะจึงนำไปขาย เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อไปนำไปเลี้ยงไว้ในตู้กระจกสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป การนำพืชน้ำมาเลี้ยงกุ้งต้องทำการล้างทำความสะอาดอย่างดี ก่อนที่จะนำมาปล่อยให้กุ้งกิน เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดโรคติดมากับพืชเหล่านั้น หรือจะเลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็ได้ครับ แต่ต้องให้อาหารให้กุ้งอิ่ม เพราะหากกุ้งไม่อิ่มอาจจะกินกุ้งในบ่อเดียวกันที่อ่อนแอกว่าได้

ส่วนการเลี้ยงเป็นกุ้งเนื้อนั้นจำเป็นต้องใช้บ่อที่มีขนาดใหญ่ ใช้พ่อแม่พันธุ์ที่เจริญพันธุ์ที่มีอายุราว 5-6 เดือน โดยแม่พันธุ์แต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ถึง 3 รุ่นต่อปี ออกลูกได้สูงสุดถึงรุ่นละ 1,000 ตัว และที่สำคัญคือลูกกุ้งมีเปอร์เซ็นต์การรอดสูงถึง 80% ใช้เวลาประมาณ 1-1.5 เดือน ให้กุ้งเจริญมีขนาดลำตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร จึงย้ายจากบ่ออนุบาลไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยง โดยตลาดที่เพื่อนๆ เกษตรกรสามารถผลิตออกมาขายได้ มีทั้งตลาดพ่อ-แม่พันธุ์ และตลาดลูกพันธุ์กุ้ง เพื่อขายต่อให้แก่เกษตรกรด้วยกัน รวมไปถึงตลาดรับซื้อกุ้งเพื่อนำไปบริโภค เรียกได้ว่ามีตลาดที่กว้างไม่น้อยเลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook