สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เถาเอ็นอ่อน สมุนไพรคู่ใจผู้สูงวัย

เถาเอ็นอ่อน สมุนไพรตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่เรามาชวนคุยวันนี้เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสิ่งที่จะเป็นปัญหาอยู่คู่กับผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่ ก็คือปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เอาชนิดที่เบาที่สุดและมักจะเป็นกันทุกคน ก็คืออาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เส้นเอ็นยึดหรือตึง ปวดหลังปวดเอว ปวดแข้งปวดขา ฯลฯเนื่องจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปเองตามอายุที่เพิ่มขึ้น มักจะต้องมี ยาหม่อง ยานวด ติดบ้านเอาไว้ตลอด ซึ่งสมุนไพรที่มีสรรพคุณ และกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ก็คือ เถาเอ็นอ่อน นั่นเองครับ โดยการแพทย์แผนไทยระบุว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงเส้นเอ็น คลายเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ดี ทำให้มีการนำเถาเอ็นอ่อนมาเป็นส่วนผสม หรือแปรรูป เป็นสินค้าชนิดต่างๆ เช่น ยาหม่อง น้ำมันนวด สมุนไพรเม็ด น้ำสมุนไพร ลูกประคบ เถาตากแห้ง เป็นต้น

เถาเอ็นอ่อนเป็นไม้เถาเลื้อย ที่มีลำต้นเป็นเถากลม มีเนื้อแข็ง เปลือกเถาหนา สีน้ำตาลเข้มมีลายประเถายาว 4-5 เมตร เมื่อเถาแก่เปลือกจะแตกลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ มียางสีขาวข้นทั่วทั้งต้น กิ่งมีขนาดเล็ก ใบเถาเอ็นอ่อน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ใบกว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเรียบเป็นมันวาว ก้านใบสั้น เฉพาะใบอ่อนเท่านั้นจะมีขน ดอกเถาเอ็นอ่อน ออกเป็นช่อดอกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอ่อนๆ มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบติดกัน เมื่อดอกบานกลีบดอกจะบิดเป็นเกลียว สวยงาม ผลเถาเอ็นอ่อน ออกเป็นฝักคู่ รูปทรงกระสวยแหลม ดูคล้ายพริก ยาวประมาณ 6.5-10 เซนติเมตร ฝักมีเนื้อแข็ง ผิวผลเป็นมันลื่น เมื่อแก่จัดจะแตกฝักออก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลมีขนปุยสีขาวติดอยู่ช่วยให้เมล็ดปลิวไปตามลม เพื่อขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์เถาเอ็นอ่อนได้ด้วยวิธีปักชำราก ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้ชอบดินที่ร่วนซุย มีความชุ่มชื้น แต่ไม่ชื้นแฉะ เติบโตได้ในสภาพอากาศร้อนอย่างบ้านเรา และควรทำค้างไม้ให้เถาไม้ได้เลื้อยเพื่อความสวยงามเป็นระเบียบ บางบ้านก็นิยมนำมาปลูกเป็นไม้เลื้อยประดับซุ้มนั่งเล่นในสวน

ในปัจจุบัน วัตถุดิบจากพืชสมุนไพรอย่างเถาเอ็นอ่อน รวมไปถึงพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่มีสรรพคุณในกลุ่มแก้อาการปวดเมื่อย คลายเส้น คลายกล้ามเนื้อ  ต่างๆ เหล่านี้  มีความต้องการใช้อยู่ตลอดเวลา และยังมีแนวโน้มที่จะใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลน วัตถุดิบสมุนไพรขึ้นได้ในอนาคต เพราะสมุนไพรบางชนิดเติบโตช้า บางชนิดจะต้องใช้ทั้งต้น ทั้งราก และ บางชนิดก็นำมาใช้บ่อยจนเติบโตไม่ทันกับการใช้งาน จึงนับเป็นโอกาสที่ดี สำหรับเพื่อนๆเกษตรกรที่สนใจปลูกพืชสมุนไพรกลุ่มนี้เพื่อรองรับตลาดกันครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook