สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ยกระดับเกษตรกรที่ปลูกขมิ้นชันสู่การเป็น Smart Farmer

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพซึ่งผลิตจากสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมนำมาใช้ทดแทนการใช้สารสังเคราะห์ และรัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดันให้สมุนไทยเป็นความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย และส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพตามระบบมาตรฐานการเกษตร และกำหนดนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้อาหารที่ผลิตและบริโภคภายในประเทศมีความปลอดภัยและได้มาตรฐานทัดเทียมสากล โดยได้มีการส่งเสริมการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามระบบความปลอดภัย และได้มาตรฐานที่กำหนด

ขมิ้นชันจัดเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับลม ท้องร่วง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้การใช้ผงขมิ้นมาเป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ครีมบำรุงผิว สบู่ และครีมขัดผิว เป็นต้น ประเทศไทยเรามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกขมิ้นชัน จนมีแหล่งผลิตขมิ้นที่เป็นแหล่งใหญ่หลายจังหวัด  ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลกตาก นครพนม ราชบุรี กระบี่พังงา พัทลุง และสุราษฎร์ธานี หากมีการผลิตภายใต้มาตรฐานแหล่งผลิตที่มีการผลิตด้วยหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice :GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ประยุกต์ใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ จะเป็นการช่วยลดต้นทุน ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นการยกระดับการผลิตขมิ้นชันให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของสมุนไพรยิ่งขึ้น

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยโดยมี อาจารย์ณัชชารีย์ ทวีหิรัญรัฐกิจ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย “แนวทางยกระดับการผลิตขมิ้นชันของเกษตรกรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ได้มาตรฐาน GAPและเกษตรอินทรีย์ และเข้าสู่การเป็น Smart Farmer” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกขมิ้นชันในจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และสามารถเชื่อมโยงการผลิตกับการตลาด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของประเทศหรือสากล และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการของตลาด มีการเพิ่มมูลค่าส่งออกและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

ผลสำเร็จจากงานวิจัยนี้ จะทำให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตามระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์ สำหรับขมิ้นชัน ทำให้มีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้องและเหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต เกิดผลตอบแทนสูงสุดในการผลิตขมิ้นชัน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตขมิ้นชันของเกษตรกรด้วยระบบมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ทำให้มีระบบการตรวจสอบและให้การรับรองเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำผลงานวิจัยไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานการผลิต GAP และเกษตรอินทรีย์ สำหรับขมิ้นชันในพื้นที่อื่นต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook