สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรวงศ์ขิงโดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต

เป็นเวลาหลายศตวรรษที่มนุษย์ใช้พืชขิงเพื่อประโยชน์มากมาย พืชเหล่านี้นิยมนำมาประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเทศ  เช่น ขิง (Zingiber officinale) ข่า (Alpinia galanga) กระชาย (Boesenbergia rotunda) กระวาน (Amomum testaceum) และขมิ้น (Curcuma longa)  นอกจากนี้ยังใช้เป็นสมุนไพร เช่น ว่านชักมดลูก (Curcuma zanthorhiza) ว่านมหาหงส์ (Hedychium coronarium) และเป็นไม้ประดับ เช่น ดาหลา (Etlingera elatior) และปทุมมา (Curcuma alismatifolia) คาดว่าวงศ์ขิงประกอบด้วยพืชประมาณ 1,500 ชนิดทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิประเทศเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะในประเทศไทยพบได้ประมาณ 300 ชนิด พืชที่อยู่ในวงศ์ขิงมีลักษณะเด่นคือ เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดินแบบไรโซมหรือเหง้า มีกลิ่นเฉพาะตัวที่เกิดจากน้ำมันหอมระเหย มีต่อมน้ำมันอยู่ภายในเซลล์ และคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับกลิ่นหอมของขิง ข่า กระชาย ขมิ้น กระเจียว ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพทำให้ความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และสมุนไพรบางชนิดเป็นที่ต้องการของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี การส่งออกเหล่านี้แบ่งเป็นสมุนไพรสดมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท สารสกัดสมุนไพรมูลค่าประมาณ 270 ล้านบาท ขณะที่ตลาดอุตสาหกรรมสมุนไพรโลกมูลค่าประมาณ 9.18 หมื่นล้านดอลลาร์ ประเทศที่มีมูลค่าตลาดสมุนไพรสูง ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

การพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรวงศ์ขิงโดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต

กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านสมุนไพรโดยมีพืชสมุนไพรเป้าหมาย 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ไพล กระชายดำ และขมิ้นชัน และยกระดับพืชสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดให้เป็นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ในตลาดระดับโลก อันใกล้นี้ (ฐานเศรษฐกิจ, 2560)ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณและการนำมาใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป

สวก.เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยสำหรับโครงการ “การพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรวงศ์ขิงโดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พีรนุช จอมพุก เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อทำการศึกษาเทคนิคที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ขิงในสภาพปลอดเชื้อและขั้นตอนวิธีการเหนี่ยวนํา ให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา ลำแสงอิเล็กตรอนบีม และสารเคมีก่อกลายพันธุ์ร่วมกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อได้สายพันธุ์กลายที่มีความแปรปรวนทางพันธุกรรมจากการเหนี่ยวนําให้กลายพันธุ์ จึงนําไปปลูกเพื่อคัดเลือกลักษณะที่ต้องการในสภาพปลอดเชื้อและสภาพแปลงทดลอง และนำไปปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปผลิตต่อไป  เป็นการเพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจครัวเรือนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนในที่สุด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook