สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนากระบวนการหมักสมุนไพรเพื่อควบคุมโรคพืช

โรคและแมลงศัตรูพืชในภาคการเกษตรสร้างความเสียหายนับแสนล้านบาทต่อปี ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมาก การใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร เพื่อควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงและสร้างปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ยังส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากโรคพิษเฉียบพลันและพิษสะสมต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เกิดการปนเปื้อนในอาหารและสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญของการจํากัดปริมาณและชนิดสารเคมีอันตรายที่ใช้ทางการเกษตรและมีการยกเลิกสารเคมีหลายชนิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาสารทดแทนที่ปลอดภัยสำหรับการใช้งานทางการเกษตร

ปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการผลิตน้ำหมักชีวภาพมาใช้เพื่อทดแทนสารเคมีด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยทำการหมักวัสดุอินทรีย์ เศษสิ่งมีชีวิตและกากน้ำตาล และเพิ่มฤทธิ์โดยการเติมพืชสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อยับยั้งเชื้อก่อโรคและศัตรูพืช เช่น เมล็ดและใบสะเดา, หัวกลอย, ใบชุมเห็ดเทศ, ตะไคร้หอม, เมล็ดและใบน้อยหน่า, เถาบอระเพ็ด, ใบยาสูบและยังมีพืชสมุนไพรหายาก เช่น เลี่ยน, ว่านน้ำ, สาบแร้ง, สบากา, หญ้างวงช้าง, คําแสด เป็นต้น (Phornphisutthimas, 2012) เกษตรกรแต่ละรายมีการใช้สูตรน้ำหมักจากพืชสมุนไพรที่แตกต่างกัน

การพัฒนากระบวนการหมักสมุนไพรเพื่อควบคุมโรคพืช

หลังจากที่คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์พบว่า เกษตรกรมีความต้องการสารออกฤทธิ์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคและศัตรูพืชทดแทนสารเคมีในปริมาณมากและให้ผลที่รวดเร็วและแม่นยําเพื่อเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังขาดองค์ความรู้เชิงลึก ขาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ที่เหมาะสม

จากการทดสอบตัวอย่างน้ำหมักชีวภาพและสารสกัดสมุนไพรที่มีจำหน่ายทั่วไปในห้องปฏิบัติการพบว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถยับยั้งเชื้อโรคพืชได้ อย่างไรก็ตามปริมาณพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งโรคและแมลงศัตรูพืช มีอยู่น้อย หายาก และมีจำกัดในบางพื้นที่ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการในภาคการเกษตรที่มีอยู่สูงมาก ในขณะที่สมุนไพรและวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรหลายชนิดในประเทศไทยมีศักยภาพในการนํามาผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมได้ เช่น วัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เช่น เปลือกมังคุด เปลือกผลไม้ กากกาแฟ และสารลิกโนเซลลูโลสจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยวัตถุดิบเหล่านี้สามารถนํามาผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญ เช่น alpha-mangostin, xanthone, tannin, phenolic compounds,  lignin, caffeic acid, gallic acid ซึ่งสามารถยับยั้งเชื้อโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สวก. จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนากระบวนการหมักสมุนไพรเพื่อควบคุมโรคพืช” เพื่อพัฒนานวัตกรรมกระบวนการหมักสมุนไพรอัตราเร่ง เพื่อการผลิตสารออกฤทธิ์ชีวภาพยับยั้งโรคพืชจากวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิตสารชีวภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นในกระบวนการหมัก และศึกษาเสถียรภาพของสารออกฤทธิ์ระหว่างการเก็บรักษาและนําไปใช้ และพัฒนาสารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและศัตรูพืชที่ปลอดภัยเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการเกษตรซึ่งเป็นการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและกระบวนการหมักจากวัตถุดิบสมุนไพรหรือวัสดุชีวมวลเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพิ่มมูลค่าเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสู่สารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและศัตรูพืชเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมความมั่นคงทางเทคโนโลยีและการทำเกษตรอินทรีย์ ยกระดับการเกษตรและลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook